โฉนดที่ดิน แบบไหนขอสินเชื่อได้ ?


วันนี้น้องใกล้ชิด จะพาทุกคนไปรู้จักกับโฉนดที่ดินแต่ละประเภท ว่ามีอะไรบ้าง และมีความแตกต่างกันอย่างไร ซึ่งที่ดินแต่ละประเภทนั้นเป็นเอกสารแสดงกรรมสิทธิ์ที่แตกต่างกันไป บางชนิดสามารถซื้อ ขาย โอน จดจำนองได้ตามปกติ แต่บางชนิดไม่สามารถซื้อ ขาย โอน ได้ ยกเว้นตกเป็นมรดกให้ทายาทลูกหลานเท่านั้น และโฉนดแบบไหนที่สามารถขอสินเชื่อได้

ประเภทของโฉนดที่ดิน

โฉนดที่ดินในประเทศไทยมีหลายประเภท ทั้งที่สามารถซื้อขายได้ และซื้อขายไม่ได้ มีทั้งแบบโอนกรรมสิทธิ์ได้ และเป็นเพียงหนังสือแสดงสิทธิ์การทำกิน หรือทำประโยชน์ในที่นั้นซึ่งไม่ใช่กรรมสิทธิ์ในที่ดินนั้น โดยสามารถแบ่งเอกสารสิทธิ์ได้ โฉนดที่ดินทั่วไปสามารถแบ่งได้เป็น 4 ประเภทหลัก ๆ ดังนี้

1.โฉนดที่ดิน นส.4 (ครุฑแดง)

นส.4เป็นโฉนดที่ให้กรรมสิทธิ์ในที่ดินกับเจ้าของอย่างแท้จริง มีระวางรูปถ่ายทางอากาศชัดเจน มีหมุดแสดงพื้นที่ชัดเจน ให้กรรมสิทธิ์เจ้าของสามารถทำอะไรบนที่ดินผืนนั้นของตัวเองได้ตามกฎหมายอย่างสมบูรณ์ สามารถซื้อ ขาย โอน จดจำนองได้

2.โฉนดที่ดิน นส.3ก (ครุฑเขียว)

นส.3ก เป็นเอกสารที่แสดงสิทธิการครอบครอง เพื่อทำประโยชน์ในพื้นที่ดินนั้น ๆ ได้ ซึ่งจะมีระวางรูปถ่ายทางอากาศชัดเจนเหมือนกับโฉนด แต่จะแตกต่างกันที่เงื่อนไขผู้ครอบครองจะต้องทำให้ที่ดินนั้นเกิดประโยชน์ขึ้น ต่างจากโฉนด (นส.4) ตรงที่โฉนดสามารถปล่อยทิ้งว่างได้ แต่อย่างไรก็ตาม นส.3ก สามารถซื้อ ขาย โอน ให้กันได้       

หากใครที่มีโฉนดที่ดิน ทั้ง2ประเภทนี้ ไม่ว่าจะเป็น ครุฑแดงหรือครุฑเขียว ก็อุ่นใจได้เลย ว่าสามารถ ซื้อ ขาย โอน จดนำหรือจำนอง ได้อย่างแน่นอน และถ้าใครต้องการเงินด่วน สามารถนำโฉนดมายื่นเพื่อขอสินเชื่อกับทางสาขาเมืองไทย แคปปิตอล กว่า6,500 สาขาทั่วประเทศได้เลยครับ

3.โฉนดที่ดิน นส.3/นส.3ข (ครุฑดำ)       

         นส.3/ นส.3ข เป็นหนังสือที่แสดงสิทธิการครอบครองเพื่อทำประโยชน์ในพื้นที่ดินนั้น ๆ ได้ เหมือนกับ นส.3ก เพียงแต่จะไม่มีระวางรูปถ่ายทางอากาศ ไม่ได้วัดพื้นที่โดยละเอียด แต่สามารถซื้อ ขาย โอนได้ แต่โดยส่วนใหญ่แล้ว ผู้ซื้อมักรอให้มั่นใจว่าสามารถออกโฉนดได้ก่อน จึงทำการซื้อขายแลกเปลี่ยนกันได้

นส.3 และ นส.3ข มีความแตกต่างกัน ดังนี้

  • นส.3 : เป็นเอกสารที่นายอำเภอท้องที่เป็นผู้ออกให้
  • นส.3ข : เป็นหนังสือที่เจ้าหน้าที่ที่ดินเป็นออกออกให้ แต่ยังไม่ได้รับรองอย่างเป็นทางการ

4.โฉนดที่ดิน ส.ป.ก.4-01 (ครุฑน้ำเงิน)                      

           ส.ป.ก.4-01 เป็นเอกสารที่ออกให้เจ้าของมีสิทธิในการทำ “เกษตรกรรม” บนพื้นที่ดินเท่านั้น ไม่สามารถซื้อ ขาย โอน หรือออกเป็นโฉนดในภายหลังได้ แต่สามารถแบ่งตกทอดเป็นมรดกสู่ทายาทต่อไปได้ และทายาทก็จะต้องทำเกษตรกรรมบนที่ดินนั้นเท่านั้น

โฉนดที่ดิน ส.ป.ก.4-01 สามารถให้ผู้อื่นเช่าเพื่อการเกษตรได้ ซึ่งหนังสือชนิดนี้ เป็นหนังสือที่ออกให้กับผู้ที่มีฐานะยากจน ครอบครัวละไม่เกิน 50 ไร่ สามารถสร้างสิ่งปลูกสร้างเพื่อการเกษตรได้ ไม่สามารถนำไปจำนองได้ (ยกเว้นโครงการที่ระบุว่าสามารถใช้ ส.ป.ก.4-01 เป็นประกันได้) เมื่อไม่ต้องการแล้ว สามารถคืนให้กับรัฐได้ แต่ถ้าทำผิดเงื่อนไข หรือไม่ได้นำพื้นที่ไปทำการเกษตรจริงอาจถูกยึดคืนได้

หนังสือแสดงสิทธิในที่ดินอื่น ๆ

หนังสือแสดงสิทธิในที่ดินนั้น มีอีกหลายประเภทสามารถที่อาจจะไม่ได้กล่าวถึง ดังนี้

1. นส. 2 หรือ ใบจอง

นส. 2 เป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในที่ดินชั่วคราว ซึ่งผู้ที่มีใบจอง จะต้องทำประโยชน์ในพื้นที่ดินเกินกว่า 75% ของที่ดิน ภายใน 6 เดือนหลังได้รับใบจอง และจะต้องทำประโยชน์แล้วเสร็จภายในระยะเวลา 3 ปี ซึ่งเอกสารชนิดนี้ ไม่สามารถซื้อ ขาย หรือโอนให้กันได้ แต่สามารถตกทอดเป็นมรดกให้กับทายาทได้

2. สทก. หรือ สิทธิที่ดินทำกิน

สทก. เป็นหนังสือที่กรมป่าไม้ออกให้ ประชาชนมีสิทธิในการทำกินบนพื้นที่ป่าไม้ ไม่สามารถซื้อ ขาย หรือโอนให้กันได้ แต่สามารถตกทอดเป็นมรดกให้กับทายาทได้ ซึ่งถ้าเจ้าของสิทธิไม่ทำประโยชน์หรือปล่อยที่ดินรกร้างติดต่อกันเกิน 2 ปี อาจถูกยึดคืนได้

3. ภ.บ.ท.5 หรือ ใบชำระภาษีบำรุงท้องที่

ภ.บ.ท.5 เป็นใบชำระภาษีบำรุงท้องที่ของผู้ที่อยู่อาศัย หรือใช้ประโยชน์ในพื้นที่มาแต่เดิม โดยการชำระภาษีเพื่อแลกกับการใช้ประโยชน์ในที่ดิน แต่จะไม่มีสิทธิในการครอบครองที่ดิน ซึ่งเจ้าของที่ดินนั้น คือ รัฐ นั่นเอง ซึ่งจะไม่สามารถซื้อ ขาย หรือโอนให้กันได้ แต่สามารถตกทอดเป็นมรดกให้กับทายาทได้

กรณีโฉนดที่ดินสูญหาย เสียหาย หรือบุบสลาย

ในกรณีที่เจ้าของเป็นผู้เก็บโฉนดที่ดินไว้เอง จึงมีความเป็นไปได้ที่โฉนดที่ดินที่ทำจากกระดาษแผ่นบาง ๆ ไม่มีความทนทาน จะสามารถเสียหาย หรือบุบสลายได้ อีกทั้งบางคนที่ย้ายที่อยู่บ่อย ก็อาจทำให้โฉนดที่ดินสูญหายได้ และเนื่องจากเป็นเอกสารทางทะเบียนที่สำคัญ จึงต้องทำการขอออกเอกสารใหม่เพื่อเก็บไว้ครอบครองใช้เป็นหลักฐานในการแสดงสิทธิในที่ดิน

เมื่อต้องการขอโฉนดใหม่ สิ่งที่ต้องทำ มีดังนี้

1.แจ้งความเพื่อลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐานถึงการสูญหาย เสียหาย หรือบุบสลายของโฉนดนั้นจริง เพื่อป้องกันการนำโฉนดไปจำหน่าย จ่าย โอนจากผู้ที่เก็บได้ในกรณีสูญหาย หรือจากเจ้าของโฉนดเองที่อาจนำโฉนดไปขาย หรือจำนองแล้วมาขอออกใหม่ เพื่อไปทำการทุจริตผู้อื่นต่อ

2.นำใบแจ้งความไปติดต่อขอออกโฉนดใหม่ หรือใบแทนที่สำนักงานที่ดิน

3.ในการขอออกโฉนดใหม่ หรือใบแทนโฉนดที่ดิน จำเป็นต้องมีพยาน 2 คนมาเซ็นรับทราบ และเพื่อยืนยันว่าผู้ขอเป็นเจ้าของที่ดินที่แท้จริง

หลักฐานที่ต้องใช้ในการขอออกโฉนดใหม่

  • บัตรประชาชนผู้ขอ
  • ทะเบียนบ้าน
  • พยาน และบัตรประชาชนพยานทั้ง 2 คน
  • ใบแจ้งความ
  • ค่าธรรมเนียม 75 บาท

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : กรมที่ดิน